บทที่ 3
ไม่ลืม
“ตอนนี้นายรู้สึกยังไง มีอาการอะไรบ้าง” เสียงทุ้มของนายแพทย์สุดเขตเอ่ยถามคนไข้กิตติมาศักดิ์ซึ่งกำลังนั่งจิบชาผลไม้อยู่ในสวนหย่อมเล็ก ๆ ภายในบ้าน และกำลังสนใจปลาคราฟหลากสีที่แหวกว่ายอยู่ในบ่อมากกว่าหมอที่กำลังรอฟังคำตอบ “ดูจากอาการแล้วคงไม่เป็นไรมากหรอกมั้ง”
“ฉันไม่ได้เป็นไร บอกแล้วว่าไม่ต้องมาตรวจ เสียเวลา” สุดโปรดละสายตาจากปลาคราฟแล้วหันไปพูดกับหมอซึ่งเป็นพี่ชายแท้ ๆ ที่อายุห่างกันเพียงแค่สองปีด้วยน้ำเสียงปกติทว่าติดแหบเล็กน้อย
“แม่บอกให้มา แล้วเช้านี้ฉันก็ว่างพอดี แต่ฟังจากเสียง นายน่าจะเป็นหวัดนะ” แพทย์หนุ่มวินิจฉัยอาการของน้องชายคร่าว ๆ “มีอาการอื่นอีกไหม เช่นปวดหัว ตัวร้อน หรือวิงเวียนศีรษะ”
“เมื่อวานตัวร้อนนิดหน่อย แล้วก็ปวดหัว แต่วันนี้ดีขึ้นแล้ว” คนเป็นน้องตอบพร้อมยกถ้วยชาผลไม้ขึ้นมาจิบอีกครั้ง
“งั้นก็กินยาตามปกติ ไม่นานเดี๋ยวก็หาย ที่บ้านมียากินใช่ไหม”
“มี”
แพทย์หนุ่มพยักหน้ารับรู้ ก่อนจะชวนน้องชายคุยตามประสาพี่น้องที่ไม่เจอกันนาน เพราะต่างแยกย้ายกันไปทำหน้าที่ของตนเอง เมื่อหกปีที่แล้วสุดโปรดมีเหตุจำเป็นทำให้ต้องย้ายไปทำงานไกลถึงประเทศฝรั่งเศส พอน้องชายกลับมาประเทศไทย สุดเขตก็ไม่มีเวลาว่างมากพอที่จะนั่งคุยด้วย เนื่องจากมีงานที่คลินิกและมีเคสผ่าตัดแทรกเข้ามาอยู่เป็นระยะ แล้วพอจะเข้าไปหาที่บริษัทหรือจะเข้ามาหาน้องที่บ้าน เขาก็ดันไม่มีเวลาว่างอีก กระทั่งผ่านมาเกือบหนึ่งเดือนถึงได้มานั่งคุยกับน้องชายที่โตมาด้วยกันอย่างจริง ๆ จัง ๆ
“ปลื้มอยู่ไหน” สุดเขตถามหาหลานชายวัยเจ็ดขวบ เขามาถึงที่นี่ได้สักพักหนึ่งแล้ว ทว่ายังไม่เห็นแม้แต่เงาของหลาน
“อยู่บนห้อง นอนยังไม่ตื่น”
คนเป็นลุงพยักหน้า ไม่ได้ว่าอะไรที่หลานตื่นสายในวันหยุด จากนั้นก็หันกลับมาถามไถ่น้องชายต่อ “นายจัดการทุกอย่างเรียบร้อยหมดแล้วใช่ไหม หมายถึงเรื่องที่นายจะย้ายกลับมาอยู่ไทย”
“เรื่องงานที่โน่นลงตัวหมดแล้ว ไม่มีปัญหาอะไร เหลือแค่จัดการเรื่องเอกสารอีกนิดหน่อย ฉันให้พัฒน์กับคุณชาอยู่จัดการให้ เพราะฉันต้องรีบพาปลื้มกลับไทยให้ทันโรงเรียนเปิดเทอม” สุดโปรดบอกพี่ชาย พัฒน์กับคุณชาที่กล่าวถึงคือวรพัฒน์กับณิชาซึ่งเป็นผู้ช่วยคนสนิทของเขานั่นเอง
“เออ พูดถึงเรื่องโรงเรียนเจ้าปลื้ม เป็นไงบ้าง เกิดอะไรขึ้น ฉันได้ยินมาจากแม่ว่าย้ายโรงเรียนมาสองที่แล้ว ไม่โอเคเหรอ”
สุดโปรดถอนหายใจออกมาด้วยความหนักใจ ตอนนี้เรื่องโรงเรียนของลูกเป็นเรื่องที่ทำให้เขารู้สึกเครียดเป็นอย่างมาก และยังไม่รู้ว่าควรจะแก้ปัญหานี้อย่างไรดี “เจ้าปลื้มเข้ากับเพื่อนที่โรงเรียนไม่ได้น่ะ”
“ทำไมถึงเข้าไม่ได้”
“มีหลายอย่างที่ต้องปรับตัว เข้าไปใหม่ ๆ เจ้าปลื้มก็ไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร อาจจะเพราะเป็นเด็กใหม่ด้วยก็เลยโดนเพื่อนแกล้ง เด็กพวกนั้นเขารู้จักกันและสนิทกันอยู่แล้ว พอเจ้าปลื้มเข้าไป เห็นไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวก็คงนึกสนุก อยากแกล้ง ใช้ให้ไปทำนู่นทำนี่ ปลื้มบอกว่าบางวันก็โดนเพื่อนบังคับให้ไปเปิดกระโปรงเพื่อนผู้หญิง”
“เฮ้ย แล้วเจ้าปลื้มก็ยอมทำตามอะนะ” สุดเขตถามขึ้นด้วยความตกใจ เพราะไม่คิดว่าหลานของตนจะกล้าทำเรื่องที่ไม่น่ารักอย่างนั้น ก่อนจะถอนหายใจออกมาอย่างโล่งอกเมื่อสุดโปรดส่ายหน้า “พอไม่ทำตามแล้วเป็นไง”
“เละ”
“หมายถึงเละยังไง”
“ต่อยกันเละเลย กูนี่โคตรปวดหัว” ครั้นนึกถึงเรื่องนี้ คนเป็นพ่ออย่างสุดโปรดก็ถึงกลับต้องยกมือขึ้นมากุมขมับแล้วคลึงไปมาด้วยความเครียด
“โห ถึงขั้นต่อยกันเลยเหรอวะ แล้วผลเป็นไง ใครแพ้ใครชนะ”
“ปลื้มสิ ครูเล่าให้ฉันฟังว่าพอเถียงกันเดือด ๆ แล้วไม่มีใครยอมใคร ปลื้มวิ่งเข้าไปปล่อยหมัดรัว ๆ เลย เด็กคนนั้นยังไม่ทันได้ทำอะไรด้วยซ้ำ”
“สุดจัด เชื้อลุงมันแรงว่ะ” สุดเขตตบเข่าอย่างถูกใจฉาดใหญ่หลังจากได้ฟังวีรกรรมของหลานชายวัยเจ็ดขวบ ก่อนจะกลับมาจริงจังอีกครั้งเมื่อเห็นสีหน้าเคร่งเครียดของน้องชาย “แล้วนายจัดการเรื่องนี้ยังไง”
“ผิดก็ว่าไปตามผิด ฉันก็ทำโทษปลื้มไม่ให้เล่นเกมอาทิตย์หนึ่ง แล้วก็บอกว่าอย่าทำแบบนี้อีก ส่วนเรื่องชกต่อยฉันก็ไปเคลียร์ที่โรงเรียนแล้ว ผู้ปกครองเด็กคนนั้นก็มา ฝั่งนั้นเขาก็โมโหอยู่หน่อย ๆ ที่เจ้าปลื้มไปต่อยลูกเขา แต่ก็เข้าใจว่าเด็ก เลยต้องการแค่คำขอโทษจากเจ้าปลื้ม”
“แล้ว ?”
“ก็ไม่แล้วไง หลังจากขอโทษไปแล้ว พอกลับบ้านมาฉันก็ถามลูกว่าจะเอายังไง ยังอยากเรียนที่โรงเรียนนั้นต่อไหม ซึ่งคำตอบก็เป็นอย่างที่คิด ลูกไม่อยากอยู่ที่โรงเรียนนั้นแล้ว ฉันก็โอเค รีบหาโรงเรียนใหม่ให้ คราวนี้เลือกเป็นโรงเรียนรัฐบาล แต่ชื่อเสียงก็ระดับท็อปของประเทศ”
“แต่ก็ยังไม่โอเคอีกใช่ไหม”
“ใช่” สุดโปรดถอนหายใจอีกครั้ง “เรื่องเดิม ๆ แต่คราวนี้โดนล้อเรื่องการพูดด้วย ตอนอยู่ฝรั่งเศสส่วนมากจะใช้ภาษาฝรั่งเศสกับภาษาอังกฤษเป็นหลัก ส่วนภาษาไทยปลื้มจะได้ใช้แค่เฉพาะตอนที่พูดกับฉัน แล้วก็ตอนที่คุณชาสอนอ่านกับเขียนเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้พูดบ่อย ปลื้มชินกับการพูดภาษาอังกฤษมากกว่า เวลาพูดภาษาไทยสำเนียงเลยฟังดูแปร่ง ๆ”
เพราะรู้อยู่แล้วว่าสักวันก็ต้องได้ย้ายกลับมาอยู่ไทย เขาจึงมักจะใช้ภาษาไทยกับลูกอยู่เสมอ ทว่าช่วงหลัง ๆ เขางานยุ่งมาก เลยไม่ค่อยมีเวลาสอนลูกเท่าไร แต่ก็ยังถือว่าโชคดีที่มีผู้ช่วยคนสนิทอย่างณิชาช่วยสอนแทน หากก็สอนได้ไม่เต็มที่อยู่ดีเพราะเธอก็ต้องทำงานเช่นกัน
“คือยังไง ล้อเรื่องสำเนียง ?” คนเป็นลุงยังคงถามต่อด้วยความเป็นห่วงหลาน
“ก็พูดไทยไม่ชัด บางทีก็นึกคำไทยไม่ออกแล้วพูดเป็นภาษาอังกฤษแทน เหมือนที่พูดกับนายตอนนายโทร. ไปนั่นแหละ สำเนียงจะออกเหน่อ ๆ เลยฟังดูตลกสำหรับเด็ก ๆ”
“ไม่เห็นจะเป็นไรเลยนี่ เรื่องนี้แค่ทำไมต้องล้อเลียนกันด้วย”
“ฉันก็ไม่รู้ว่ะ จริง ๆ เพื่อนก็ล้อเลียนกันขำ ๆ นั่นแหละ แต่เจ้าปลื้มไม่ชอบไงเพราะรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นตัวประหลาด ปลื้มบอกว่าเพื่อนชอบมาบังคับให้พูด พอยอมพูดก็พากันหัวเราะเหมือนเขาเป็นตัวตลก”
คนอื่นอาจจะมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยเพราะเด็กก็คือเด็ก อาจจะมีล้อเลียน หยอกล้อ หรือเล่นกันไปตามประสา ทว่าสุดโปรดไม่ได้คิดแบบนั้น เขามองว่ามันคือการบุลลีซึ่งอาจจะกลายเป็นปมที่ติดอยู่ในใจลูกชายของเขาไปทั้งชีวิต ทำให้ขาดความมั่นใจในการพูด
“แล้วนายจะทำไงต่อ ย้ายอีกเหรอ”
“คงต้องอย่างนั้น เพราะเจ้าปลื้มไม่โอเคกับโรงเรียนนี้แล้ว” สุดโปรดตอบด้วยความหนักใจ เพราะตอนนี้เขายังหาโรงเรียนใหม่ให้ลูกไม่ได้
“ถ้าโรงเรียนใหม่เป็นแบบเดิมอีกล่ะ”
“นี่แหละที่ฉันเครียด” คุณพ่อลูกหนึ่งยกมือขึ้นมากุมขมับอีกครั้ง หาโรงเรียนดี ๆ ให้ลูกว่ายากแล้ว ยังต้องมานั่งเครียดเป็นห่วงอีกลูกจะเข้ากับเพื่อนได้หรือไม่
“ไม่ลองให้เรียนแบบ Home School ดูล่ะ” นายแพทย์หนุ่มแนะนำ ในเมื่อไปเรียนที่โรงเรียนมีปัญหา ก็จ้างครูมาสอนที่บ้านเลยน่าจะดีกว่า
“คิดอยู่ แต่คงเอาไว้เป็นทางเลือกสุดท้าย ฉันอยากให้ปลื้มมีเพื่อนวัยเดียวกัน อยากให้ลูกได้ใช้ชีวิตเหมือนเด็กทั่วไป จะได้มีสังคม”
“ก็จริง” สุดเขตพยักหน้าเข้าใจและเห็นด้วย ก่อนจะถามต่อ “แล้วหาโรงเรียนใหม่ได้ยัง”
“เล็งที่ Q. Bangkok แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจ” โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนนานาชาติที่ค่าเทอมแพงอันดับต้น ๆ ของประเทศ เรื่องเงินไม่ใช่ปัญหา สำหรับลูกเท่าไร่เขาก็ยอมจ่าย ทว่าที่ไม่ให้ลูกไปเรียนที่นี่ตั้งแต่แรกเพราะมันค่อนข้างไกลจากบ้าน เขาไม่อยากให้ลูกเสียเวลาไปกับการเดินทาง เพราะมันน่าเบื่อ